เคล็ดลับก้นครัวเคล็ดลับอื่นๆ 14 ก.ค. 68

เรื่องของปูอัด

Share :

เรื่องนี้ต้องบอก “ปูอัด” มีเรื่องดี ๆ ต้องรู้

ปูอัด  หลายคนคงทราบกันดีว่าปูอัดไม่ได้ทำมาจากเนื้อปู  แต่ทำมาจากเนื้อซูริมิ   หรือเนื้อปลาสีขาว เช่น ปลาทรายแดง ปลาอลาสก้า ปลากะพง ปลาตาโต ปลาดาบและปลาอื่น ๆ   เมื่อคัดเนื้อปลาได้แล้วก็นำมาบดละเอียด แล้วปั้นเป็นรูปร่างต่าง ๆ ซึ่งโดยส่วนมากแล้วจะทำออกมาในรูปแบบแท่ง แต่งสี กลิ่น และรสให้คล้ายรสชาติของปูเล็กน้อย

1 ปูอัด หรือเนื้อปูเทียม เกิดขึ้นจากการที่บ่อยครั้งที่ชาวประมงจับได้แต่ปลาตัวเล็ก ขนาดที่ยังนำไปขายไม่ได้ราคา จึงคิดเอาปลามาแล่ เข้าเครื่องบดละเอียด แล้วนำเข้าเครื่องปั้น แต่งกลิ่นปู ตกแต่งสีเป็นสีแดงคล้ายประดองปู และปั้นให้มีลักษณะเหมือนเนื้อปู  ซึ่งประเทศแรกที่คิดทำปูอัด หรือปูเทียมขึ้นมาก็คือ ประเทศญี่ปุ่น  

2 ปูอัดถูกปรุงสุกแล้ว ดังนั้นเราจึงสามารถกินปูอัดได้ทันที โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการปรุงสุกใด ๆ      

3  ปูอัดประกอบด้วยปลาบางส่วน คาร์โบไฮเดรต และน้ำตาล ทำให้ปูอัดนั้นมีคุณค่าทางโภชนาการไม่เท่ากับเนื้อปูสด อย่างไรก็ตามในปูอัดมีซีลีเนียม และฟอสฟอรัสมาก ซึ่งแร่ธาตุทั้ง 2 ชนิดมีประโยชน์ต่อร่างกาย เนื่องจากทุกๆ เซลล์ในร่างกายต้องการฟอสฟอรัส เพื่อการสังเคราะห์ดีเอ็นเอ ควบคุมการทำงานของเอนไซม์ และมีบทบาทในการสื่อสารของเซลล์ ส่วนซีลีเนียมจะมีส่วนช่วยในการทำงานของหลอดเลือด ควบคุมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน และกระตุ้นโปรตีนที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันโรคมะเร็ง ซึ่งการกินปูอัดปริมาณ 85 กรัมจะได้รับซีลีเนียม 27% ของปริมาณซีลีเนียมที่ควรได้รับต่อวัน และฟอสฟอรัส 24% ของปริมาณฟอสฟอรัสที่ควรได้รับต่อวัน

4 ปูอัด 85 กรัม อาจมีน้ำตาลมากถึง 10.6 กรัม และมีโซเดียม 715 มิลลิกรัม เนื่องจากกระบวนการผลิตได้ใส่น้ำตาลและโซเดียมเพิ่มเพื่อปรับปรุงรสชาติให้ดีขึ้น แต่แคลอรี่ก็เพิ่มขึ้นด้วย จึงไม่ควรกินมากไป และควรหลีกเลี่ยงการกินปูอัดที่ไม่มีฉลากข้อมูลทางโภชนาการกำกับ เนื่องจากอาจทำให้แพ้สารบางชนิด เช่น ปลา สารสกัดจากปู และไข่ ได้