บทความครัวคุณต๋อยอยากบอก5 มิ.ย. 63

คอลัมน์ ใกล้ครัว เทียนอบ ควันและชีวิต

Share :

เคอลัมน์ ใกล้ครัว เทียนอบ ควันและชีวิต

วันใหม่ในช่วงเวลาหกโมงเช้า เส้นทางซึ่งเป็นจุดหมาย ที่ใช้ในการสัญจรออกไปดูวัตถุดิบ มีปริมาณรถค่อนข้างหนาแน่น เป็นเรื่องปกติของเมืองใหญ่อย่างมหานครกรุงเทพ สำหรับผู้โดยสารอย่างเรามองเห็นเป็นเรื่องชินชา เพราะสิ่งนี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปเสียแล้ว หากแต่ใจก็รู้สึกโล่งขึ้นมาบ้าง เมื่อรถที่โดยสารถีบตัวออกมาถึงแถบชานเมือง มีความรู้สึกสบายตาขึ้นมามาก ด้วยสองข้างทางมีแมกไม้เขียวชอุ่ม พอให้รู้สึกสดชื่นขึ้นมาบ้าง

ขณะที่สายตาสอดส่ายสองข้างทาง ใจลึก ๆ ก็ชวนให้นึกถึงร้านขนมไทยหลายแห่งที่เคยไปเยี่ยมเยือน เห็นขนมจัดวางดารดาษอยู่ในตู้กระจก ทั้งขนมเสน่ห์จันทร์ หันตรา จ่ามงกุฎ และขนมไทยอีกหลากหลายชนิด นอกจากความหอมที่เกิดจากการนำวัตถุดิบมาปั้นแต่งแล้ว ที่ปลายจมูกยังได้กลิ่นหอมจากวัตถุดิบอย่างอื่น ที่เจ้าของร้านได้รังสรรค์ขึ้น เรียกได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ของขนมไทย ทุกร้านที่เราไปเยือนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ขนมของที่ร้านต้องผ่านกระบวนการอบด้วยควันเทียน มอง ๆ ไปเทียนอบ เหมือนเป็นตัวเองที่ชวนให้ขนมไทยน่ารับประทานมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่แสดงอัตลักษณ์ ความเป็นไทยได้อย่างโดดเด่น อย่างภูมิใจ

รถที่อาศัยเดินทางมาตามหาวัตถุดิบ แล่นถึงไหนแล้ว ก็ไม่อาจรู้ได้ ด้วยเพราะจิตใจไม่ได้จดจ่ออยู่กับการเดินทาง หากแต่เสียงจากคนขับรถบอกให้รู้ว่าเราเดินทางมาถึงจุดหมายปลายทางแล้ว ซึ่งก็คือบ้านที่ทำเทียนอบนั่นเอง ภายในบริเวณบ้านดูกว้างขวาง เหมาะเป็นสถานที่ผลิตวัตถุดิบสำหรับทำขนมอย่างเทียนอบ ที่แห่งนี้เราได้พบเจ้าของบ้าน ผู้เป็นเจ้าของตำรับเทียนอบแบบโบราณ

เมื่อได้มาเยือนถึงเรือนชาน นอกจากเรื่องราวของเทียนอบที่อยากมาเรียนรู้ อีกหนึ่งอย่างที่อยากรู้ไม่แพ้กัน นั่นก็คือประวัติศาสตร์จุดเริ่มต้นการเกิดขึ้นของเทียนอบ ที่เป็นภูมิปัญญาอันทรงคุณค่ายิ่งของคนไทย หากแต่ผู้เป็นเจ้าของตำรับเทียนอบ ก็ไม่อาจให้คำตอบได้กระจ่างชัด ด้วยเพราะความเป็นมาของการใช้เทียนอบนั้น ไม่ได้มีการบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรว่าเริ่มคิดค้นและผลิตออกมาใช้ตั้งแต่สมัยใด เพียงแต่ได้รับคำบอกเล่าจากผู้เฒ่าผู้แก่หลาย ๆ ท่านว่า “เทียนอบเขาใช้มาตั้งแต่โบร่ำโบราณแล้ว”

หากแต่ก็ยังมีความรู้ใหม่ ๆ ที่ได้สนทนากับช่างผู้ทำเทียนอบ ทำให้รู้ว่าเทียนอบนั้นเมื่อสมัยก่อนนิยมใช้ในรั้วในวัง และคิดว่าน่าจะมีใช้กันก่อนสมัยพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 สมัยก่อนนั้นเทียนอบไม่ได้มีใช้เฉพาะเรื่องของอาหารเท่านั้น หากแต่เทียนอบยังใช้สำหรับอบห้องนอน ให้มีกลิ่นหอมอีกด้วย นอกจากนี้แล้วในบันทึกของชาวตะวันตกยังบอกด้วยว่า ชาวสยามนิยมนำเทียนอบไปอบเสื้อผ้าด้วยเช่นกัน

การพูดคุยสนทนาเรื่องประวัติเทียนอบ คงไม่สามารถลึกซึ้งมากกว่านี้เสียแล้ว ในใจลึก ๆ ชวนให้รู้สึกเสียดาย ที่ไม่สามารถทราบชื่อนามท่านผู้ริเริ่มคิดค้น นำมาใช้จนแพร่หลายเป็นที่นิยมของคนไทยสมัยเก่าก่อน หรือแม้กระทั่งปัจจุบัน ก็ยังนิยมใช้กันอยู่ แม้ไม่ทราบนามท่านแต่ในใจก็ขอสรรเสริญท่าน

เรื่องราวของประวัตศาสตร์คงจบลงแต่เพียงเท่านี้ ด้วยเพราะมีสิ่งใหม่ที่ชวนให้สนใจมากกว่า เมื่อช่างทำเทียนอบ เชื้อเชิญให้เข้าไปดู วัตถุดิบสำหรับทำเทียนอบ เห็นในภาชนะมีการจัดสิ่งเหล่านั้นไว้ในภาชนะสวยงาม ทั้งกำยาน ผิวมะกรูด จันท์เทศ ชะลูด พิมเสน ทั้งหมดนี่ล้วนแต่เป็นเครื่องหอม จึงไม่แปลกใจว่าทำไมขนมเมื่อผ่านกระบวนการอบด้วยเทียนชนิดนี้แล้ว ถึงได้หอมเย็น ที่สำคัญเป็นความหอมที่ติดทนนานอีกด้วย

นอกจากเครื่องหอมเหล่านี้แล้ว ยังมีวัสดุอีก 2 อย่างที่ขาดไม่ได้เลย เรียกว่าเป็นส่วนสำคัญนอกจากเครื่องหอมก็ได้เช่นกัน นั้นก็คือขี้ผึ้งแท้ และเส้นด้ายที่ผลิตจากฝ้ายแท้ ซึ่งทั้งสองอย่างเป็นชนวนที่ช่วยเผาไหม้เครื่องหอมให้เกิดควัน เพื่ออบขนมนั่นเอง ทั้งวัสดุและวัตถุดิบที่นำมาทำเทียนอบ ต้องผ่านการคัดสรรค์มาอย่างดี รวมไปถึงวิธีการจัดการด้วยเช่นกัน ซึ่งแต่ละอย่างกว่าจะนำมารวมกันเพื่อผลิตเทียนอบ ต้องมันใจว่าสะอาดไม่มีกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์

ภายในสถานที่ผลิตเทียนอบ เราได้ความรู้เพิ่มจากช่างผู้ชำนาญการด้วยว่า เส้นด้ายนั้นก่อนจะนำมาทำไส้เทียน ต้องมีการจัดการให้ดีเสียก่อน ด้วยเพราะเส้นด้ายที่ผ่านกระบวนการผลิตจากโรงงานอุตสาหกรรม อาจมีกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ ดังนั้นเมื่อควั่นเป็นเส้นขนาดตามต้องการแล้ว ต้องนำเส้นด้ายไปแช่น้ำสะอาดก่อนประมาณ 3 ชั่วโมง แล้วซักด้วยน้ำเปล่าหลาย ๆ ครั้งให้มั่นใจว่าสะอาดดี นอกจากนี้เพื่อให้มั่นใจว่า ปราศจากกลิ่นที่ไม่พึงปรารถนาจริง ๆ ให้นำไปล้างในน้ำสะอาดที่ผสมน้ำมะกรูดอีกครั้ง นำไปตากแดดให้แห้ง จากนั้นก็นำมาอบร่ำและรูดไส้เทียนด้วยน้ำจันทร์ให้หอม

การเตรียมไส้เทียนนั้นก็เป็นอีกหนึ่งขั้นตอนการของการทำเทียนอบ กระบวนการจัดการเหล่านี้ เป็นความรู้ใหม่ และเป็นประสบการณ์ครั้งแรกที่ได้พบเจอ เพราะทุกครั้งที่ได้รับประทานขนมไทยได้รับรู้เพียงคำบอกเล่าเท่านั้น เมื่อได้มาเห็นด้วยตา ก็เหมือนเดินทางมาถึงบางอ้อเสียที

ส่วนเครื่องหอมที่จะนำมาทำเทียนอบนั้น ทั้งกำยาน ผิวมะกรูด จันท์เทศ ชะลูด พิมเสน ตักใส่ภาชนะผสมทั้งหมดให้เข้ากันในอัตราส่วนที่เหมาะสม เพื่อให้ได้ความหอมกำลังดีไม่ฉุนมากจนเกินไป ส่วนผสมเครื่องหอมทั้งหมดที่นำมาใช้นั้น จะต้องผ่านกระบวนการทำให้แห้งก่อน อย่างเช่นผิวมะกรูด เป็นต้น และยังต้องนำไปบดให้ละเอียดอีกด้วย

สำหรับรายละเอียดขึ้นตอนการทำเทียนอบนั้นไม่ยุ่งยาก เพียงนำขี้ผึ้งแท้มาลนไฟให้นิ่ม จากนั้นนำเครื่องหอมมาผสมกับขี้ผึ้งนวดให้ส่วนผสมเข้ากันดี ก็จะได้เป็นเนื้อเทียนอบ แล้วนำเนื้อเทียนมาแผ่กับพื้นไม้ที่เตรียมไว้ จากนั้นนำไส้เทียนวางลงบนแผ่นเทียนแล้วควั่นเทียนให้เป็นแท่ง ดัดให้ลำเทียนงอเป็นครึ่งวงกลม เพื่อความสะดวกสำหรับการนำไปใช้งาน

เทียนอบที่ผลิตเรียบร้อยแล้ว เนื่องจากทำจากขี้ผึ้งแท้ เมื่อได้รับความร้อนจะทำให้เทียนละลายได้ง่าย ดังนั้นควรเก็บเทียนอบในภาชนะที่มีฝาปิดมิดชิด สถานที่เก็บต้องเป็นที่แห้งและเย็น ไม่แนะนำให้เก็บเทียนอบในตู้เย็น เพราะตัวเทียนจะดูดกลิ่นอาหารที่แช่ในตู้เย็นเข้ามาเก็บไว้ในเนื้อเทียน เมื่อนำมาอบขนมจะทำให้เกิดกลิ่นไม่พึงประสงค์ขึ้นนั่นเอง

สำหรับการนำเทียนไปอบขนมนั้น ต้องเลือกใช้ภาชนะ ที่มีฝาปิดมิดชิด เช่น ภาชนะแก้ว กระเบื้องหรือโลหะ ไม่แนะนำให้ใช้ภาชนะที่ทำจากพลาสติก เพราะเมื่อนำไปอบขนม อาจมีกลิ่นพลาสติกติดขนมด้วยนั่นเอง สิ่งที่ควรระมัดระวังมากในการอบขนม นั่นคือต้องไม่ให้เนื้อเทียนสัมผัสชิ้นขนม ให้วางถ้วยใบเล็กไว้กลางภาชนะที่ใช้อบขนม แล้วจึงเรียงขนมรอบ ๆ ถ้วย แล้วจึงจุดเทียนอบให้ไฟไหม้แรง รอให้ไฟไหม้ไส้เทียน และขี้ผึ้งละลายบางส่วน ดับเทียนเพื่อให้เกิดควัน วางลงในถ้วยใบเล็ก ปิดฝาให้สนิทอบขนม จนกระทั่งควันจะดับ หรืออบนานตามต้องการ

เรื่องราวของควัน กลิ่นหอมจากเทียนอบคงหมดแต่เพียงเท่านี้ สิ่งเหล่านี้นับว่าเป็นเรื่องราวอัศจรรย์ ที่เกิดจากภูมิปัญญาของท่านคุณเทียด ที่ได้รังสรรค์ขึ้น และเป็นมรดกที่ได้รับการสืบทอดมาอย่างยาวนาน และจะเป็นเช่นนี้เสมอ หากเมื่อขนมไทยยังมีลมหายใจอยู่ และเป็นอีกเรื่องราวเมื่อผ่านไปอีก 100 ปี ให้คนรุ่นนั้นได้ตามมาศึกษาเรียนรู้

สำหรับฉันคงต้องจากมาและกลับไปสู่วิถีของฉัน เพราะยานพาหนะคันโปรดติดเครื่องรอรับฉันนานแล้ว กลิ่นเครื่องเทศยังคงติดที่ปลายจมูก ความรู้สึกภูมิใจมีจนล้นปลี เผลอเปื้อนยิ้มเต็มใบหน้า ….