บทความครัวคุณต๋อยอยากบอก25 มิ.ย. 63

ถั่วงอก ต้นอ่อนกินได้

Share :

ถั่วงอก ต้นอ่อนกินได้

รถตู้ยานพาหนะเพียงอย่างเดียวที่สามารถหาได้ในเวลาเช้ามืด ที่มืดกว่าเช้าตรู่ กำลังทะยานตัวพุ่งสู่ความมืด ด้วยความเร็วอย่างสม่ำเสมอ หากแต่ผู้โดยสารซึ่งมีเพียงคนเดียว ยังคงงัวเงีย ครึ่งหลับครึ่งตื่น ต่างจากพาหนะที่กำลังโดยสารอยู่ในขณะนี้ ซึ่งทำหน้าที่ตนเองอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง

การเดินทางในเช้าวันนี้ จากทางหลวงแผ่นดิน เข้าสู่เส้นทางชนบทผ่านหลายอำเภอหลายจังหวัด ก่อนจะถึงปลายทางซึ่งเป็นจุดหมายของเรา สองข้างทางที่ผ่านไป แม้อาจจะยังมืด แต่ก็พอให้สังเกตความเป็นไปของสองฝังถนน แต่ละชีวิตต่างดำเนินไปตามวิถีของตนเอง แต่ทว่าก็หวังที่จะไปบรรจบที่ปลายทางเดียวกัน นั่นก็คือความสำเร็จ

ตลอดการเดินทางใช่เวลานานร่วม 3 ชั่วโมง รถตู้ก็พาเรามาถึงที่หมาย เวลานี้ดวงตะวันโผล่พ้นขอบฟ้า ส่องแสงทาบทามพื้นโลกมอบไออุ่นในคืนวันที่อากาศหนาวผิดฤดูกาล เมื่อถึงที่หมายหน้าที่ก็เริ่มขึ้นมือคว้ากล้องถ่ายรูปขึ้นสะพาย แต่ก็ไม่ลืมหยิบสมุดบันทึกติดตัวด้วย เมื่อเปิดประตูรถ ก็พบคุณนิมิตร์ เทียมมงคล เจ้าบ้านยืนยิ้มอยู่ที่รั้วบ้าน รอเปิดประตูต้อนรับ วิถีแห่งคนไทยเมื่อไปเยือนถึงบ้านก็กล่าวคำทักทายโอพาปราศรัย แนะนำตัวเองเพื่อสร้างความคุ้นเคย…

ภายในบริเวณบ้านร่มรื่นด้วยต้นไม้นานาพันธุ์ อีกมุมหนึ่งของตัวบ้านเป็นโรงเรือนสำหรับเพาะถั่วงอก ท่อซีเมนต์วางเรียงอย่างเป็นระเบียบ บรรยากาศภายในโรงเรือนค่อนข้างมืดและชื้น แต่อากาศถ่ายเทได้สะดวก นอกจากนี้ก็ยังมีอุปกรณ์อื่น ๆ จัดว่างไว้อย่างเป็นระเบียบ สะท้อนให้เห็นถึงอุปนิสัยเจ้าบ้านเป็นอย่างดี ในใจก็นึกชื่นชมการจัดการโรงเรือนของคุณนิมิตร์อย่างเลี่ยงไม่ได้

จากการสำรวจภายในโรงเรือนพบว่าท่อซีเมนต์แต่ละวง ข้างในมีถั่วงอกที่เพาะแล้ว บ้างก็เพิ่งเพาะใหม่ ๆ บ้างก็เติบโตพอที่จะตัดส่งตลาดได้แล้ว มองดูแล้วเป็นการวางแผนการทำงาน เพื่อให้มีผลผลิตส่งตลาดได้ตลอดเวลา ทำให้แอบคิดว่าแม้เป็นถั่วงอกที่หลายคนคิดว่าเป็นเรื่องง่าย ๆ หากทำงานไม่เป็นถั่วงอกก็เป็นเรื่องยากได้เช่นกัน

ขณะสำรวจโรงเรือน คุณนิมิตร์ก็บอกเล่าความรู้เกี่ยวกับการเพาะถั่วงอก ซึ่งเรียกว่าเป็นหลักสำคัญเลยก็ว่าได้ นั่นคือต้องเป็นเมล็ดถั่วเขียวสายพันธุ์ดี ที่มีอัตราการงอกสูง ผลดีของการใช้เมล็ดถั่วเขียวพันธุ์ดี ช่วยให้ได้ถั่วงอกต้นโต ลำต้นยาว อวบอ้วนน่ารับประทาน นอกจากนี้ภาชนะสำหรับเพาะก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน ควรเลือกภาชนะที่มีลักษณะทึบ ระบายน้ำได้ดี และสุดท้ายคือน้ำ เป็นปัจจัยสำคัญมากในการเพาะถั่วงอก ต้องมีน้ำสะอาดเพียงพอ ถึงจะสามารถเพาะถั่วงอกให้ประสบความสำเร็จได้….

ทันทีที่พูดประโยคสุดท้ายจบลง คุณนิมิตร์ก็เดินไปโกยเมล็ดถั่วเขียว แล้วก็กวักมือเรียกเราไปดู พร้อม ๆ กับให้ความรู้เพิ่มเติม “เมล็ดถั่วเขียวทีมีคุณภาพสำหรับเพาะถั่วงอก นอกจากจะได้เมล็ดจากถั่วเขียวสายพันธุ์ดี เพื่อให้มั่นใจว่างอกจริง ๆ ต้องใช่วิธีการขบเมล็ดพันธุ์ ถ้าใช้ฟันขบเมล็ดแล้วเหนียวยุบไม่แตก แสดงว่าอัตราการงอกจะไม่ดี ให้นำเมล็ดไปตากแดดหรือผึ่งลมให้แห้งดีก่อน แต่ถ้าใช้ฟันขบแล้วเมล็ดแตกเป็นซีกหรือแตกละเอียด สามารถนำมาเพาะถั่วงอกได้เลย”

นอกจากเมล็ดถั่วเขียวที่เป็นหัวใจสำคัญของการเพาะถั่วงอกแล้ว อุปกรณ์สำหรับการเพาะถั่วงอกก็มีความสำคัญเช่นกัน ซึ่งยังต้องมีตะแกรงรองภาชนะเพาะ เพื่อไม่ให้รากถั่วงอกติดพื้นภาชนะเพาะนั่นเอง ตะแกรงจะต้องมีขนาดใหญ่เท่าภาชนะเพาะ สูงเล็กน้อย ช่วยให้การระบายน้ำดียิ่งขึ้น และยังต้องมีตะแกรงเกล็ดปลา เป็นตะแกรงพลาสติกที่มีรูละเอียด ขนาดของรูต้องเล็กกว่าเมล็ดถั่วเขียว เมื่อถั่วเขียวงอกรากจะแทงทะลุตะแกรงเกล็ดปลา ช่วยให้ลำต้นถั่วงอกตั้งตรง ละช่วยให้การตัดถั่วงอกสะดวกมากยิ่งขึ้น สุดท้ายที่ต้องมีคือกระสอบป่าน ตัดเป็นวงกลม ขนาดเท่าภาชนะเพาะ เพื่อช่วยอุ้มน้ำ ให้มีความชื้นมากพอต่อการเจริญเติบโตของถั่วงอก

ขณะที่คุณนิมิตร์ กำลังให้ความรู้กับเรา สองมือก็ค่อย ๆ โกยเมล็ดถั่วเขียวใส่ถังพลาสติก แล้วก็เดินเลยไปที่โอ่งน้ำ ทำให้พวกเราต้องรีบเดินตามด้วยความงวยงง แต่ก็ถึงบางอ้อ เมื่อคุณนิมิตร์หยิบขันตักน้ำเทลงในถัง ก่อนจะใช่มือเคล้าเมล็ด พร้อมกับอธิบายให้เราฟัง “คุณสมบัติของเมล็ดถั่วเขียวนอกจากที่กล่าวมาทั้งหมดแล้ว เมื่อนำมาล้างน้ำ จะต้องมีเยื้อหุ้มเมล็ดหลุดออกมา แสดงว่าอัตราการงอกสูงแน่นอน ซึ่งจะต้องล้างเมล็ดถั่วเขียว 3-4 ครั้ง หรือจนกว่าน้ำล้างถั่วเขียวจะใส จึงจะใช้ได้”

เรายืนมองคุณนิมิตร์สาละวนอยู่กับการล้างถั่วเขียวอยู่ครู่หนึ่ง ก่อนจะตักน้ำสะอาดใส่ลงในถังเมล็ดถั่วเขียวอีกครั้ง แล้วเติมน้ำร้อนลงเพิ่มด้วย พร้อมกับใช้เครื่องวัดอุณหภูมิ สังเกตเห็นปรอทวิ่งสูงถึง 40 องศาเซลเซียส จึงหยุดเติมน้ำร้อน จากนั้นก็แช่เมล็ดถั่วเขียวไว้ประมาณ 7-8 ชั่วโมง เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เมล็ดถั่วเขียวเตรียมตัวงอกนั้นเอง….

การเพาะถั่วงอกจะเริ่มต้นทำในเช้าวันใหม่ โดยเทน้ำที่แช่ถั่วเขียวเตรียมไว้ออกให้หมด จากนั้นก็ล้างเมล็ดถั่วเขียว 2 ครั้ง เพื่อกำจัดกลิ่นไม่พึงประสงค์ ขั้นตอนต่อไปก็จะเป็นขั้นตอนเพาะถั่วงอก เริ่มจากนำตะแกรงรองก้นภาชนะเพาะก่อน โดยอาจจะเป็นท่อซีเมนต์ หรือตะกร้าผ้าก็ใช้ได้เช่นกัน ที่สำคัญต้องระบายน้ำได้ดี จากนั้นก็ใช้กระสอบป่านที่ตัดเตรียมไว้ปูทับตะแกรง แล้วจึงวางตะแกรงเกล็ดปลาบนกระสอบป่าน ก่อนจะโรยเมล็ดถั่วเขียวที่เตรียมไว้ ให้ทั่วทั้งตะแกรงเกล็ดปลาแล้วปูกระสอบป่านทับเมล็ดถั่วเขียว ก็จะได้ชั้นที่ 1 จากนั้นก็ทำชั้นที่ 2-4 แล้วก็ปูกระสอบป่านทับ รดน้ำตามให้ชุ่ม

การดูแลต่อจากนี้ไป ก็เพียงการดูแลรดน้ำให้สม่ำเสมอ วันละ 3 ครั้ง เมล็ดถั่วเขียวก็จะเจริญเติบโตเป็นถั่วงอก เพียง 3 วันก็มีผลผลิตส่งตลาดขายแล้ว เมื่อ 3 วันผ่านไปจากเมล็ดถั่วเขียวที่มีรากเล็ก ๆ จากการแช่น้ำไว้ค้างคืน ก็จะได้ถั่วงอกต้นขาวสวย ให้หยิบแผ่นกระสอบป่านทีมีถั่วงอกอัดแน่นลงเขย่าในน้ำโดยให้รากอยู่ข้างบนให้ส่วนของต้นถั่วงอกจมลงไปในน้ำ เพื่อให้เปลือกถั่วงอก หลุดออกจากต้น จากนั้นก็ใช้มีดคม ๆ ตัดถั่วงอกเสมอตะแกรงเกล็ดปลา เพียงเท่านี้ก็ได้ถั่วงอกไร้ราก พร้อมใส่บรรจุภัณฑ์ออกขาย

ระหว่างการตัดต้นถั่วงอก ขอเสียมารยาทกับเจ้าของฟาร์ม หยิบต้นถั่วงอกขึ้นมาชิม เคี้ยวไปพลางคิดไปพลาง เป็นรสชาติที่ไม่เคยชิมมาก่อน แต่ก็คิดไม่ออกมาเหมือนอะไร ก่อนจะโพล่งออกไปด้วยความตื่นเต้น รสชาติของถั่วงอกคล้ายมันแก้วไม่มีผิด จนคุณนิมิตร์เจ้าของฟาร์มพูดด้วยน้ำเสียงภูมิใจพร้อมใบหน้าเปื้อนยิ้ม “ใครก็ว่าถั่วงอกจากฟาร์มของผมเหมือนมันแก้วครับ”

เวลาคล้อยบ่าย การเรียนวิธีเพาะถั่วงอกจบลงแล้ว ไม่แคล้วต้องเอ่ยคำลาเจ้าของฟาร์ม แต่ก็แอบเสียดาย เพราะบรรยากาศร่มรื่นมาก ทำให้ใจไม่อยากจาก แอบเหลือบไปมองถั่วเขียวที่เพิ่งเพาะใหม่เมื่อสักครู่ ใจก็เผลอคิดไปว่า อีก 3 วันค่อยกลับมาตัดถั่วงอกที่เราเพาะไว้…