บทความครัวคุณต๋อยอยากบอก1 มิ.ย. 63

ร้านอาหารในห้าง หรือนอกห้าง ใครเจ็บกว่ากัน ตอนโควิด-19??

Share :

ร้านอาหารในห้าง หรือนอกห้าง ใครเจ็บกว่ากัน ตอนโควิด-19??

ร้านอาหารในห้าง หรือนอกห้าง ใครเจ็บกว่ากัน ตอนโควิด-19??

สถาณการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ทำให้หลายประเทศทั่วโลกต้องใช้นโยบาย Social distancing ซึ่งผลกระทบที่เกิดกับร้านอาหารอย่างรุนแรงคือการห้ามนั่งรับประทานอาหารภายในร้าน รวมถึงการจำกัดเวลาการเปิดปิดทำการของร้านอาหาร และห้างสรรพสินค้า

ผู้ประกอบการรายใหญ่และรายเล็ก ต่างต้องดิ้นรนเอาตัวรอดทุกวิถีทาง เช่น การลดค่าใช้จ่าย ทั้งค่าเช่า ค่าคนงาน หรือการพยายามหารายได้ผ่านช่องทางเดลิเวอรี่ และการทำการตลาดออนไลน์กันมากขึ้นทวีคูณอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน แต่สุดท้ายแล้วร้านอาหารต่าง ๆ ก็ยากที่จะหลีกเลี่ยงความสูญเสียจากศึกครั้งนี้ได้

ร้านอาหารในห้างหรือนอกห้าง ใครสูญเสียหรือเจ็บมากกว่ากัน จากข้อมูลที่ผู้เขียนทราบ เรื่องเจ็บ ๆมีหลายเรื่องดังนี้

1. ค่าเช่า

ถือเป็นต้นทุนไม่ผันแปร Fixed cost สำคัญที่มีสัดส่วนปกติประมาณ 10-20% ของรายได้

ช่วงที่รัฐบาลสั่งปิดห้างดูเผิน ๆ ร้านในห้างอาจเจ็บหนัก แต่จริง ๆ แล้วห้างส่วนใหญ่จะไม่คิดค่าเช่าผู้เช่าธุรกิจร้านอาหารเลยในช่วงนี้ ซึ่งแตกต่างจากผู้เช่านอกห้างที่ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นร้านสแตนด์อโลนที่จะได้ส่วนลดค่าเช่าไม่เกิน 50% ของค่าเช่าปกติ ที่ส่วนลดน้อยกว่าร้านในห้างเพราะว่าผู้ให้เช่าอาจเห็นว่าร้านไม่ได้โดนสั่งปิดเหมือนในห้าง

แต่กับสถานการณ์ปัจจุบันความเสียหายในเรื่องนี้น่าจะกลับมาที่ฝั่งร้านอาหารในห้างเป็นที่เรียบร้อย เพราะห้างสรรพสินค้าเปิดได้แล้ว แต่ผู้เขียนยังไม่เห็นห้างไหนเสนอส่วนลดให้กับผู้เช่าอย่างเป็นทางการเลย ในจุดนี้คงต้องมาตามข่าวกันต่อไป

2.เงินมัดจำการเช่า

เวลาทำสัญญาการเช่า ร้านในห้างส่วนใหญ่ต้องจ่ายเงินมัดจำค่าเช่าล่วงหน้า 6 เดือน ขณะที่ร้านนอกห้างส่วนใหญ่จะโดนเก็บค่ามัดจำล่วงหน้าเพียงแค่ 3 เดือน แน่นอนถ้าเกิดผู้เช่าทำผิดสัญญาในกรณีนี้ร้านอาจโดนยึดเงินส่วนนี้ ซึ่งร้านอาหารในห้างมีแนวโน้มที่จะสูญเสียมากกว่า นี่ยังไม่นับเรื่องการที่อาจจะโดนปรับจากทางห้าง ถ้าทางร้านค้าไม่สามารถเปิดทำการได้ ผิดกับร้านอาหารนอกห้างที่ไม่มีใครมาปรับจะเปิดหรือจะปิดขึ้นอยู่กับทางร้านเองขอแค่มีเงินจ่ายค่าเช่า

3.ความสะดวกในการขาย

ถ้าพูดถึงช่วงที่นั่งทานที่ร้านไม่ได้ และต้องพึ่งพาเฉพาะเดลิเวอรี่ ร้านทั้งสองแบบคงได้รับผลกระทบไม่ต่างกัน

แต่เมื่อทางการอนุญาตให้นั่งกินที่ร้านแล้ว ร้านที่ดูเหมือนจะได้รับผลกระทบมากกว่าคือร้านในห้าง ด้วยข้อจำกัดต่าง ๆ และความยุ่งยาก เช่นห้างปิดทำการเวลาสองทุ่มทำให้คนเลือกไปทานร้านข้างนอกที่ปิดดึกกว่าหรือการเช็คอินตั้งแต่เข้าห้าง และที่ร้านอีกรอบ หรือการจำกัดจำนวนคนเข้าห้างและคนกินภายในร้าน เมื่อเปรียบเทียบกับร้านนอกห้างที่ไม่เข้มงวดเท่าเรื่องการเช็คอิน และการไม่จำกัดจำนวนคนกินภายในร้านจึงทำให้ร้านอาหารนอกห้างสะดวกกว่าและมีแนวโน้มที่ผู้บริโภคจะไปใช้บริการง่ายกว่าด้วย นี่ยังไม่นับความเข้มงวดในการตรวจสอบความถูกต้องเรื่องฉากกั้น และระยะห่างในการรับประทานที่ร้านในห้างจะโดนตรวจสอบจากทั้งทางหน่วยงานรัฐและห้างอีกที ขณะที่ร้านนอกห้างโดนตรวจสอบแค่จากทางหน่วยงานรัฐ

4. ความเสียหายภายในร้าน

อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า เช่นตู้เย็น และแอร์ ถ้าไม่ได้เปิดนาน ๆ เป็นเวลากว่า 2 เดือน เมื่อเปิดใช้อีกครั้งอาจมีปัญหาได้ อุปกรณ์ภายในอาจจะต้องทำการเปลี่ยน และเรียกช่างมาซ่อม สร้างความเสียหาย และทำให้เกิดค่าใช้จ่ายเวลาร้านต้องกลับมาเปิดอีกครั้ง ซึ่งในส่วนนี้ร้านในห้างที่ตัดสินใจปิดร้านนาน ๆ มีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบมากกว่า

สรุปแล้วผู้เขียนมองว่า ร้านในห้างน่าจะได้รับผลกระทบมากกว่าจากเหตุการณ์ครั้งนี้ แต่อย่างไรก็ตาม ขึ้นชื่อว่าคนทำร้านอาหาร นาทีนี้ผมว่าเจ็บกันหมดถ้วนหน้า

ขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านอดทนฝ่าฟันวิกฤตครั้งนี้ไปให้ได้นะครับ ต้องรอด!!!

แท็กที่เกี่ยวข้อง : covid-19 บทความ ร้านอาหาร