ไขความลับชื่ออาหารแสนธรรมดา ๆ ที่เราไม่เคยสงสัย ?
ไขความลับชื่ออาหารแสนธรรมดา ๆ ที่เราไม่เคยสงสัย ?
ซีซาร์สลัด (Caesar Salad) คิดค้นโดยซีซาร์แห่งกรุงโรม?
ภาพจากเว็บไซต์ aubonpainthailand
ซีซาร์สลัด (Caesar Salad) ถือว่าเป็น อาหารยอดนิยมของทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย เรามักจะเห็นเมนูซีซาร์สลัดนี้ตามร้านอาหารสากล อย่างร้านอาหารฝรั่งเศส หรืออิตาลี แม้กระทั่งในร้านอาหารไทยก็ยังมีเมนูนี้ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วซีซาร์สลัดไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องกับ จูเลียส ซีซาร์ รัฐบุรุษผู้ยิ่งใหญ่แห่งจักรวรรดิโรมันเลยแม้แต่น้อย ในตำนานเล่าว่า Caesar Cardini เจ้าของภัตตาคารชาวอิตาลี เป็นผู้คิดค้นซีซาร์สลัดในปีค.ศ. 1924 ที่เมือง Tijuana (ติฮัวนา) ประเทศเม็กซิโก เหตุเกิดมาจากลูกค้าที่มาทานอาหารที่ภัตตาคารมีจำนวนเยอะและอาหารไม่เพียงพอ Cardini จึงได้แสดงฝีมือในการนำเอาวัตถุดิบที่เหลือต่าง ๆ มาประกอบขึ้นเป็นสลัดเพื่อให้เพียงพอต่อลูกค้าที่กินอาหาร
ประวัติคร่าว ๆ ของซีซาร์สลัดก็จะเป็นประมาณนี้ นั้นทำให้ผู้เขียนและผู้อ่านเข้าใจแล้วว่า ซีซาร์สลัดไม่ได้ผลิตขึ้นเพื่อเป็นการสรรเสริญจูเลียส ซีซาร์ แห่งกรุงโรมแต่อย่างใด แต่มาจากชื่อของเจ้าของภัตตาคารผู้คิดค้นสูตรซีซาร์สลัดนี้ขึ้น ณ ประเทศเม็กซิโก ที่มีชื่อว่า Caesar Cardini
ค็อกเทลที่มีชื่อว่า บลัดดีแมรี (Bloody Mary) เกี่ยวข้องอะไรกับพระนางแมรีผู้โหดเหี้ยมแห่งอังกฤษ ?
ภาพจากเว็บไซต์ delish
ผู้อ่านเคยดื่มเครื่องดื่มที่มีชื่อว่า บลัดดีแมรี กันบ้างไหมคะ ถ้าใครเคยดื่มจะรู้ว่าเครื่องดื่มชนิดนี้มีหน้าตาเป็นน้ำสีแดงสดที่ทำจากมะเขือเทศผสมกับวอดก้า ซึ่งทำให้เครื่องดื่มนี้ถูกมองว่ามีสีเหมือนเลือด
ชื่อของ บลัดดีแมรี ถูกตั้งขึ้นโดยบาร์เทนเดอร์ที่มีชื่อว่า Fernand Pete Petiot ในช่วงต้นปีค.ศ. 1920 ในขณะที่ทำงานอยู่ที่ Harry’s New York Bar ในกรุงปารีส ก่อนที่เขาจะจะย้ายไปที่แมนฮัตตันในฐานะประธานการแข่งขัน King Cole Bar ที่โรงแรม St. Regis Hotel เครื่องดื่มบลัดดีแมรีนี้ได้รับการปรับเปลี่ยนสูตรเพื่อให้ถูกปากชาวอเมริกันมากขึ้น Petiot ได้เติมรสชาติเพิ่มเติมเข้าไป เช่น มะรุม ซอสทาบาสโก น้ำมะนาว และเกลือผักชีฝรั่ง และเครื่องดื่มสุดคลาสสิกนี้จึงได้กลายเป็นที่นิยมขึ้นมา
หลาย ๆ คนก็บอกว่าชื่อ บลัดดีแมรี เป็นชื่อที่ตั้งขึ้นมาจากเด็กผู้หญิงที่ชื่อแมรีที่เขารู้จัก บ้างก็ว่าตั้งตามลูกค้าที่มาเที่ยวที่บาร์ แต่จริง ๆ แล้วชื่อนี้ Petiot ตั้งขึ้นมาจากพระนางแมรีที่ 1 ของประเทศอังกฤษผู้คลั่งไคล้ในศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกที่ได้สั่งประหารประชาชนจำนวนกว่า 300 คน โดยการเผาทั้งเป็น ทำให้พระนางแมรีที่ 1 ได้ สมญานามว่าเป็น “ราชินีผู้กระหายเลือด” ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า บลัดดีแมรี ถูกนำมาตั้งเป็นชื่อค็อกเทลเพื่อให้เข้ากับสีแดงที่ดูคล้ายกับสีเลือดของผู้ถูกประหารในครั้งนั้นนั้นเอง
เฟรนช์ฟรายซ์ (French fries) มีต้นกำเนิดมาจากประเทศฝรั่งเศสจริงหรือ?
ภาพจากเว็บไซต์ cuisinart
พอพูดถึงหัวข้อนี้ขึ้นมาก็เกิดความสงสัยว่าเฟรนช์ฟรายซ์ที่เรากิน ๆ กันอยู่ทุกวันนี้ เป็นของประเทศอะไรกันแน่ แน่นอนหลาย ๆ คน รวมถึงผู้เขียนก็คงต้องนึกถึงประเทศฝรั่งเศส เพราะว่ามันมีคำว่า French อยู่ในชื่อของ French fries ไง !!
แต่จริง ๆ แล้วเฟรนช์ฟรายซ์ ไม่ได้เป็นของประเทศฝรั่งเศส แม้จะมีคำว่า French เหมือนกันแต่ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับประเทศฝรั่งเศสโดยตรง เฟรนช์ฟรายซ์ดั้งเดิมถูกค้นพบที่ประเทศเบลเยียม นักประวัติศาสตร์ได้กล่าวว่า มีการค้นพบการทอดมันฝรั่งครั้งแรกในปลายปี ค.ศ. 1600 และตามตำนานท้องถิ่นของเบลเยียมเล่าว่า ชาวบ้านที่ยากจนที่อาศัยอยู่ตามในหุบเขามักจะนิยมกินปลาทอดตัวเล็ก ๆ ที่จับได้ในแม่น้ำ แต่ในช่วงฤดูหนาวแม่น้ำจะแข็งตัวทำให้การจับปลานั้นเป็นเรื่องยาก ต้องหันไปกินพืชที่อยู่ใต้ดินแทนอย่าง มันฝรั่ง โดยมีวิธีการกินคือนำมาทอดในรูปแบบเดียวกับการทอดปลา ตั้งแต่นั้นอาหารชนิดนี้จึงกลายเป็นที่รู้จักไปจนทั่ว
และที่เรียกว่า เฟรนช์ฟรายซ์ ก็เพราะว่าในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ทหารชาวฝรั่งเศสที่ประจำการอยู่ที่เบลเยียมได้กินมันฝรั่งทอดชนิดนี้ และเรียกมันว่า เฟรนช์ฟรายซ์ เนื่องจากขณะนั้นเบลเยียมมีการใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาทางการ คาดว่ามีการเรียกชื่อนี้กันมาเรื่อย ๆ จนทำให้เกิดความสับสนมาจนถึงทุกวันนี้นั้นเอง
ไอศกรีมซันเดย์ (Ice Cream Sundae) ต้องขายในวันอาทิตย์?
ภาพจากเว็บไซต์ departures
ไอศกรีมเป็นสิ่งที่ทุกคนนิยมชื่นชอบกันอย่างมาก เรียกได้ว่าเป็นของหวานที่กินบ่อยที่สุดสำหรับหลาย ๆ คนเลย โดยเฉพาะเมนูไอศกรีมซันเดย์ เมนูที่ท็อปปิ้งด้วยวิปครีม ราดซอสเชอรี ช็อกโกแลต หรือ ซอสสตอเบอร์รี่และวางเชอรีเชื่อมไว้บนสุด แล้วทำไมเมนูไอศกรีมที่แสนอร่อยนี้ถึงต้องชื่อไอศกรีมซันเดย์ เพราะขายแค่เฉพาะวันอาทิตย์อย่างนั้นหรือ?
ประวัติความเป็นมาของไอศกรีมซันเดย์นั้นมีหลากหลายและถูกถกเถียงกันมาตลอดจนถึงทุกวันนี้ บ้างก็คิดกันไปว่าผลิตไอศกรีมในวันอาทิตย์ บ้างก็บอกว่าขายในวันอาทิตย์เท่านั้น โดยในเว็บไซต์ทางการของไอศกรีมซันเดย์ (www. icecreamsundae .com) กล่าวว่า ไอศกรีมซัมเดย์นี้เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1882 ณ เมืองอีทากา (Ithaca) ของนิวยอร์กซึ่งมาจากร้าน Chester Platt of Platt & Colt ซึ่งเป็นร้านขายยามาก่อน ได้นำไอศกรีมรสวานิลลาราดซอสเชอรีและไซรัป พร้อมตกแต่งด้วยเชอร์รีสดเสิร์ฟมาในแก้วทรงแชมเปญให้แก่บาทหลวงที่ชื่อ John M. Scott ในวันอาทิตย์เป็นครั้งแรก บาทหลวงคนนั้นจึงตั้งชื่อของหวานชนิดนี้ว่า ไอศกรีมเชอรีซันเดย์ (Cherry Sunday) ซึ่งก็กลายมาเป็นชื่อที่ใช้เรียกไอศกรีมลักษณะนี้มาจนถึงปัจจุบัน ตำนานไอศกรีมซันเดย์ของร้าน Chester Platt of Platt & Colt นี้ได้ถูกเล่าขานว่าเป็นเรื่องที่มีความน่าเชื่อถือมากที่สุดเนื่องจากมีหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรว่าเจ้าของร้านเคยไปซื้อโฆษณาที่ Ithaca Daily Journal เพื่อโปรโมตไอศกรีมของร้านเขาในวันที่ 5 เมษายน ปี ค.ศ. 1892
ภาพจากเว็บไซต์ adaybulletin
แล้วทำไม Ice cream Sundae ที่ตั้งชื่อตามวันอาทิตย์ จึงสะกดด้วยตัว “e” แทนที่จะเขียนว่า Sunday ?
เป็นเพราะว่าในสมัยก่อนชาวคริสต์มีความเชื่อว่า วันอาทิตย์เป็นวัน Sabbath หรือ ในภาษาไทยเรียกว่า วันสะบาโต (adaybulletin, 2 มิถุนายน 63) ซึ่งหมายความว่า เป็นวันบริสุทธิ์ ที่ไม่ควรทำกิจกรรมใด เป็นวันพักผ่อนของชาวคริสต์ และเพื่อความสบายใจไม่ให้กระทบต่อความรู้สึกของชาวคริสต์ที่เคร่งศาสนา เจ้าของร้านจึงได้เปลี่ยนจากตัว Y เป็นตัว E แทน เพื่อยังคงการออกเสียงไว้เหมือนเดิม
เป็นอย่างไรกันบ้างคะ ผู้อ่านรู้สึกประหลาดใจกับความลับของชื่ออาหารเหล่านี้กันบ้างหรือป่าว แต่สำหรับผู้เขียนรู้สึกว่า ได้ความรู้ใหม่ ๆ จากการเขียนเรื่องนี้อย่างมาก ทำให้รู้ว่าชื่ออาหารที่เราคุ้นหูนี้มันมีความเป็นมาและประวัติศาสตร์อย่างไร โดยวันนี้เราได้นำเสนอเนื้อหาที่เป็นหมวดอาหารต่างประเทศกันไป ในครั้งหน้าเราจะมาพูดคุยกันเกี่ยวกับชื่อของอาหารไทยที่เราทั้งคุ้นหูและไม่คุ้นกันดูบ้างจะได้มาไขความลับด้วยกันอีกว่าชื่อต่าง ๆ ที่ถูกนำมาตั้งเป็นชื่ออาหารนี้ มันมีที่มาจากอะไร
ข้อมูลและภาพประกอบจาก
Huffpost, Aubonpainthailand, Liquor, Delish, Cuisinart, Wonderopolis, Departures, Icecreamsundae, Altalang