เคล็ดลับก้นครัวเคล็ดลับอื่นๆ 14 พ.ค. 64

ความเข้าใจผิดด้านโภชนาการกับการลดน้ำหนัก

Share :

ความเข้าใจผิดด้านโภชนาการกับการลดน้ำหนัก

เคล็ด (ไม่) ลับกับครัวคุณต๋อย ตอน “ความเข้าใจผิดด้านโภชนาการกับการลดน้ำหนัก”

การรับประทาน กับความกังวลเรื่องน้ำหนัก หลายคนอาจยังเข้าใจผิด ครัวคุณต๋อยจึงนำข้อมูลดี ๆ จาก ดร. ฉัตรภา หัตถโกศล ผู้เชี่ยวชาญด้าน โภชนาการ เพื่อไขข้อข้องใจด้านโภชนาการกับการลดน้ำหนักเพื่อการมีรูปร่างดี สมส่วน ควบคู่ไปกับสุขภาพร่างกายที่แข็งไว้ดังนี้

1 เชื่อกันว่าหากเลือกรับประทานเฉพาะเนื้อสัตว์จะสามารถทําให้ลดน้ำหนักได้ การรับประทานอาหารประเภทโปรตีนสูง เช่น เนื้อสัตว์ ไข่ นม อาจทําให้น้ำหนักตัวลดลงได้บ้างในช่วงระยะหนึ่ง เนื่องจากอาหารที่มีโปรตีนสูงจะทําให้ความรู้สึกอยากอาหารลดลง แต่หากรับประทานในปริมาณมากเป็นประจําจะส่งผล ให้คอเลสเตอรอลสูง อันเป็นสาเหตุของโรคหัวใจและหลอดเลือด นอกจากนี้ยังส่งผลให้ไตต้องทํางานหนัก และเสื่อมสภาพเร็วขึ้น

2 เชื่อกันว่าการงดรับประทานคาร์โบไฮเดรตแล้วจะผอม หากขาดคาร์โบไฮเดรตร่างกายก็จะขาดพลังงานและเริ่มนําไขมันมาเผาพลาญ หรือเรียกว่า ภาวะคีโตซิส (Ketosis) ผลที่ได้ก็คือน้ำหนักตัวที่ลดลง แต่มีผลข้างเคียง เช่น อ่อนเพลีย ปวดศีรษะคลื่นไส้ ปวดท้อง หัวใจเต้นเร็ว และมีไข้ เป็นต้น

3 ห้ามรับประทานน้ำมันหรือไขมันใดๆ เพราะทําให้น้ำหนักขึ้น ไขมันเป็นสารอาหารที่มีความจําเป็นต่อร่างกายและขาดไม่ได้ เนื่องจากไขมันเป็นตัวช่วยดูดซึมวิตามินทุกประเภท นอกจากนี้ยังเป็นส่วนประกอบของเซลล์และเนื้อเยื่อต่างๆ อีกทั้งยังมีส่วนช่วยให้ผิวหนังชุ่มชื้นและปกป้องอวัยวะภายใน เพื่อสุขภาพที่ดีจึงแนะนําให้ใช้น้ำมันรําข้าว น้ำมันมะกอก น้ำมันคาโนลา และน้ำมันถั่วลิสง ในการประกอบอาหาร รวมทั้งหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่ผ่านการทอด เนื้อสัตว์ที่มีไขมันสูง ขนมอบ และขนมกรุบกรอบ

4 ความเชื่อที่ว่ารับประทานอาหารบางประเภทเพียงอย่างเดียวแล้วจะผอมตลอดไป

เช่น ดื่มนมทั้งวัน ทานแต่ผลไม้แทนข้าวในทุกมื้อ ทานแต่ซุปผัก ฯลฯ ในความเป็นจริงนั้น ยังไม่มีการระบุว่ามีอาหารมหัศจรรย์ใดๆ ที่สามารถช่วยให้ผอมและมีน้ำหนักตัวลดน้อยลงอย่างถาวร ซึ่งการมีพฤติกรรมการรับประทานอาหารเช่นนี้ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง จะส่งผลให้ระบบการเผาผลาญของร่างกายมีประสิทธิภาพลดลง