เคล็ดลับก้นครัวเคล็ดลับอื่นๆ 31 มี.ค. 66

ประโยชน์ของผักแพว

Share :

เคล็ดไม่ลับกับครัวคุณต๋อย ตอน “ประโยชน์ของผักแพว”

 ผักแพวมี 2 ชนิดหลักๆคือ ผักแพวแดง และผักแพวขาว แตกต่างกันเพียงสีของต้น แต่มีสรรพคุณเป็นยาสมุนไพรเหมือนกัน  ทุกส่วนของต้นผักแพวจะมีกลิ่นหอมฉุนเฉพาะตัว รสเผ็ดร้อนเล็กน้อย  นิยมนำยอดอ่อนและใบอ่อนมาบริโภคเป็นผักสด  หรือใช้แกล้มกับอาหารที่มีรสจัด และใช้เป็นเครื่องเคียงของ อาหารเหนือ อาหารอีสาน เช่นลาบ  นิยมนำมาใส่แกงประเภทปลารสจัด เพื่อดับกลิ่นคาวปลา เป็นผักที่ชาวเวียดนามบริโภคกันมาก ใส่ในเฝอ สลัด เปาะเปี๊ยะสด แหนมเนือง

-เป็นพืชที่อุดมไปด้วยเส้นใยอาหาร วิตามินเอ วิตามินซี แคลเซียม ธาตุเหล็ก  อีกทั้งยังมีสารต้านอนุมูลอิสระหลายชนิด ที่ช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานโรคให้กับร่างกาย และช่วยในการชะลอวัย โดย ผักแพวปริมาณ 1 ขีด จะมีแคลเซียม 191 มิลลิกรัม ช่วยลดการสูญเสียมวลกระดูก ลดความเสี่ยงต่อสภาวะกระดูกพรุน มีฟอสฟอรัส 45 มิลลิกรัม ช่วยลดอาการเหนื่อยง่าย มีธาตุเหล็กซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการสร้างเม็ดเลือดอยู่ 5.6 มิลลิกรัม และ เบตาแคโรทีน 3,718 ไมโครกรัม ช่วยต้านอนุมูลอิสระ

-สรรพคุณทางยาสมุนไพร มีรสเผ็ดร้อน จึงมีสรรพคุณในการขับลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ช่วยให้เลือดลมเดินดี  ลดการอักเสบ โดยการนำใบ มารับประทานเป็นผักสด หรือใช้เป็นเครื่องปรุงในการประกอบอาหาร หรือจะใช้ใบมาตากแห้งแล้วชงดื่มแบบชาก็ได้  แก้อาการปวดบวมแดงจากแมลงสัตว์กัดต่อย โดยการนำใบและลำต้นมาบดแล้วประคบบริเวณที่เป็น

-ใบผักแพว นำมาเคี้ยว ช่วยลด และดับกลิ่นปาก กลิ่นบุหรี่  ได้  อีกทั้งการเคี้ยวผักแพว จะช่วยลดอาการอักเสบของแผลในปาก รวมถึงลดแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของเหงือกอักเสบอีกด้วย

-ข้อแนะนำและข้อควรระวัง ไม่ควรรับประทานผักแพวมากจนเกินไปเพราะอาจจะทำให้เกิดอาการแสบร้อนภายในช่องปาก คอรวมถึงกระเพาะอาหาร และอาจทำให้เสี่ยงต่อการเกิดการระคายเคืองและแผลในกระเพาะอาหาร   ในการใช้ผักแพวเพื่อเป็นสมุนไพรทางยา ควรใช้ในปริมาณที่พอดีที่ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไป หรือใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ เด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หรือ ผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่อง ก่อนจะใช้ผักแพวเป็นสมุนไพรควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ