เคล็ดลับก้นครัวเคล็ดลับอื่นๆ 26 พ.ค. 66

ประโยชน์ของเก๋ากี้

Share :

เคล็ดไม่ลับกับครัวคุณต๋อย ตอน “ประโยชน์ของเก๋ากี้”

ประโยชน์ของเก๋ากี้ หรือ โกจิเบอร์รี่ เป็นสมุนไพรโบราณมีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศจีน ลักษณะเป็นผลสีส้ม หรือสีแดง ผลขนาดเล็ก รสชาติหวานอมเปรี้ยว ปัจจุบันมีในรูปแบบอบแห้ง เพื่อให้ง่ายต่อการนำมาปรุงในอาหาร หรือเครื่องดื่ม มีกรดอะมิโน 19 ชนิด มีแร่ธาตุที่ร่างกายต้องการรวม 21 ชนิด ได้แก่ สังกะสี เหล็ก ทองแดง แคลเซียม ฟอสฟอรัส ซีลีเนียม และเจอร์มาเนียม มีวิตามินซีสูง มีวิตามินบี 1 บี 2 บี 6 และวิตามินอี

-เก๋ากี้มีสรรพคุณช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย เพราะมีสารต้านอนุมูลอิสระสูง พร้อมทั้งยังมีวิตามินเอ และวิตามินซี จำนวนมากที่มีหน้าที่สำคัญในกระบวนการสร้างภูมิคุ้มกัน ป้องกันอาการเจ็บป่วย มีส่วนช่วยในการชะลอการเจริญเติบโตของเนื้องอก ต้านอนุมูลอิสระ เก๋ากี้ยังมีเบต้าแคโรทีน ที่ช่วยส่งเสริมให้ผิวมีสุขภาพที่ดีขึ้น ลดการระคายเคือง และลดริ้วรอยจากการถูกแสงแดด

 -เก๋ากี้อาจสามารถปรับปรุงการฟื้นตัวของระดับเทสโทสเตอโรน  และผลิตอสุจิในเพศชายให้เพิ่มขึ้น แต่เพื่อความปลอดภัยนั้น ก่อนการรับประทานทุกครั้ง ควรปรึกษา หรือแจ้งปัญหาด้านสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับสมรรถภาพทางเพศให้คุณหมอได้รับทราบก่อนเสมอ

– จากงานวิจัยชิ้นหนึ่ง แสดงให้เห็นว่า เก๋ากี้สามารถปรับระดับความสมดุลของอินซูลิน และน้ำตาลในเลือดให้คงที่ได้ ช่วยปรับปรุง ฟื้นฟูเซลล์ที่ผลิตอินซูลินให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ  

– ผลวิจัยในต่างประเทศยังพบว่า เก๋ากี้อุดมด้วยแคโรทีนอยด์ และซีแซนทีน ช่วยเรื่องการมองเห็น   เพิ่มความสามารถในการมองเห็น รักษาโรคตาบอดกลางคืน โดยเพิ่มประสิทธิภาพการรับภาพ และป้องกันแสง โดยเฉพาะแสงสีน้ำเงิน และสีฟ้า ทำให้ดวงตาเสื่อมช้าลง

-การนำไปใช้ทั่วไป สามารถต้มเก๋ากี้ 15 กรัมกับน้ำ ดื่มแทนน้ำชา หรือนำเก๋ากี้ 6 กรัม ไปต้มกับดอกเก๊กฮวยขาวในปริมาณเท่ากัน ดื่มแทนน้ำชา หรือกินสด 20 – 30 เม็ดจะช่วยบรรเทาอาการสายตาฝ้าฟางและชะลอความแก่ ทั้งนี้จะต้องรับประทานติดต่อกันเป็นเวลาระยะหนึ่ง จึงเกิดประสิทธิภาพ  

 

ข้อควรระวัง ในการรับประทาน เก๋ากี้

– เก๋ากี้เป็นสมุนไพรมีฤทธิ์ร้อน ดังนั้นผู้ที่ป่วยเป็นไข้ตัวร้อนมีอาการอักเสบ หรือท้องเดินจึงไม่เหมาะที่จะรับประทาน เพราะอาจทวีความรุนแรงให้กับโรคได้  

– การใส่เก๋ากี้ พร้อมกับเครื่องปรุงลงไปในอาหารที่กำลังเดือด และร้อนจัดตุ๋นจนเปื่อย ซึ่งวิธีนี้อาจทำให้สาระสำคัญที่ได้รับขาดหายไป และรสชาติของอาหารที่ได้จะออกรสเปรี้ยวมากกว่า

– โกจิเบอร์รี่ลดการแข็งตัวของเลือด ทำให้เลือดหยุดไหลช้า ดังนั้น จึงควรหยุดรับประทานโกจิเบอร์รี่ในรูปผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร 1 อาทิตย์ ก่อนการผ่าตัด หรือทำฟัน

– ก่อนรับประทานโกจิเบอร์รี่อาจต้องลองปรึกษาแพทย์ก่อนด้วย โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิต หรือผู้ที่กินยาบางอย่างเป็นประจำ เพราะโกจิเบอร์รี่อาจส่งผลกระทบโดยตรงกับตัวยาบางชนิดได้ เช่น ยาลดความดันโลหิตและยาขยายหลอดเลือด เป็นต้น

-ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานเก๋ากี้ในกรณีดังต่อไปนี้   มีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ  ใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น วาร์ฟาริน มีความดันเลือดสูง หรือต่ำอยู่ระหว่างให้นมบุตร หรือตั้งครรถ์    มีภูมิแพ้ต่อผลไม้