เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับสะตอ


เคล็ดไม่ลับกับครัวคุณต๋อย ตอน “เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับสะตอ”
สะตอมี 2 ชนิด ได้แก่ สะตอข้าวและสะตอดาน สะตอข้าว ฝักบิดเกลียว เนื้อกรอบหวาน กลิ่นไม่ฉุนมาก เนื้อเมล็ดไม่แน่น เหมาะที่จะเป็นผักเหนาะ สะตอดาน ฝักเหยียดตรง เปลือกหนา มีกลิ่นฉุนกว่า และเนื้อเมล็ดแน่น เหมาะที่จะนำไปทำแกง ผัดเผ็ดต่าง ๆ
1 การเลือกสะตอให้อร่อย ควรเลือกฝักที่โคนไม่แห้ง เม็ดนูน ไม่ใหญ่มาก เมื่อแกะเปลือกออกมาแล้วต้องเห็นผิวเมล็ดข้างในตึง ใส เงา เมล็ดไม่ด้านและไม่เหี่ยว ส่วนเทคนิคแกะสะตอได้เร็วและได้เมล็ดสวย ให้จับตรงส่วนของเมล็ดนูนๆ ด้วยมือทั้ง 2 ข้าง แล้วใช้มือทั้ง 2 ดึงและบิดข้อมือเพียงเบาๆ เมล็ดสีเขียวอวบ ก็จะปลิ้นออกมาให้ ได้เมล็ดออมาแล้ว ควรแกะเมล็ดสะตอออกเป็น 2 ซีกก่อนกิน เพราะภายในเมล็ดสะตอนั้น ส่วนใหญ่มักมีหนอนแฝงอยู่ภายใน โดยเฉพาะเมล็ดใหญ่ๆ
2 หากรู้สึกว่าสะตอสดมีกลิ่นแรงเกินไป ให้นำเมล็ดไปลวกและล้างผ่านน้ำอีกครั้ง หรือนำฝักสะตอไปหมกไฟประมาณ 1-2 นาที จะช่วยลดกลิ่นของสะตอได้
3 วิธีคืนความกรุบกรอบให้เมล็ดสะตอที่อ่อนนิ่ม เพราะสูญเสียน้ำไปจากการขนส่งและเก็บรักษา ให้นำเมล็ดที่ผ่านการแกะออกเป็นซีกๆ แช่ลงในน้ำสะอาด แล้วตั้งทิ้งไว้ในอุณหภูมิห้อง ประมาณ 20 นาที หรือนำสะตอไปแช่ในตู้เย็น 5-10 นาที เมล็ดที่อ่อนนิ่มจะกลับมาเต่งตึงกรุบกรอบ พร้อมนำไปปรุงอาหาร
4 ลดกลิ่นปากหลังรับประทานสะตอ นอกจากจะแปรงฟัน บ้วนปากแล้ว แนะนำให้กินใบสะระแหน่ 1-2 ใบ แตงกวาหรือมะเขือเปราะ ประมาณ 2-3 ลูก หรือกินผลไม้ เช่น ส้ม แคนตาลูป แอปเปิ้ล หรือกินสะตอพร้อมกับการกินถั่วฝักยาว โดยสะตอ 1 เม็ด ให้กินถั่วฝักยาวท่อนเล็กๆ ควบคู่กันไป จะช่วยลดกลิ่นสะตอได้ การดื่มชาอุ่นๆ ตาม ก็จะช่วยลดกลิ่นสะตอได้เช่นกัน
5 ผู้เป็นโรคเกาต์และโรคไตควรหลีกเลี่ยง เนื่องจากในเมล็ดสะตอ มีกรดยูริกสูง อาจทำให้อาการของโรคเกาต์รุนแรงขึ้น นอกจากนี้หากรับประทานสะตอเป็นประจำหรือรับประทานในปริมาณมากเกินไปอาจส่งผลให้เกิดโรคนิ่ว และโรคไตอักเสบจากกรดยูริกได้ และเนื่องจากสารอาหารในเมล็ดสะตอซึ่งมีทั้งโปรตีนและแร่ธาตุต่างๆ ในปริมาณสูง อาจส่งผลแก่ผู้ป่วยโรคไต ทำให้ไตทำงานหนัก จนอาจเกิดภาวะไตวายได้