เคล็ดลับก้นครัวเคล็ดลับอื่นๆ 6 ส.ค. 64

ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับการกินรักษาโรค

Share :

ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับการกินรักษาโรค

เคล็ด (ไม่) ลับกับครัวคุณต๋อย ตอน “ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับการกินรักษาโรค”

ครัวคุณต๋อย ข้อมูลดี ๆ จาก รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ นักวิทยาศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกี่ยวกับความเชื่อที่ผิดเกี่ยวกับการกินรักษาโรค มีอะไรบ้างนั้น ตามดูกันเลย

1 มังคุดนึ่ง รักษามะเร็ง

ความจริง คือ แม้จะมีงานวิจัยว่า สารแซนโทนที่อยู่ในเปลือกมังคุด ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ต่อต้านการอักเสบ ต่อต้านมะเร็ง แต่สารแซนโทนเป็นสารไม่ละลายน้ำ การนำมังคุดไปนึ่ง ไม่ได้ทำให้สารแซนโทนละลายออกมาอยู่ในเนื้อมังคุด การสกัดสารแซนโทนจากเปลือกมังคุด ยังต้องใช้วิธีการผลิตโดยเฉพาะ ปัจจุบันยังไม่มีผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากเปลือกมังคุดที่ได้รับขึ้นทะเบียนเป็นยาสำหรับมะเร็งแต่อย่างใด

ในทางตรงกันข้าม เปลือกมังคุดมีสารกลุ่มแทนนิน การนำมังคุดไปนึ่งอาจทำให้สารแทนนินซึ่งละลายน้ำได้ ซึมเข้าสู่เนื้อมังคุด เมื่อรับประทานเข้าไปมากๆ อาจทำให้ท้องผูก สะสมในตับและไตได้ การรับประทานมังคุดให้ได้ประโยชน์ ควรรับประทานผลสดไม่เกินวันละ 4-5 ผล เพื่อไม่ให้ร่างกายได้รับน้ำตาลมากเกินไป

2 ดื่มน้ำมะตูม+ใบยอ และน้ำข้าว+ไข่ขาว รักษาโรคไต

ความจริง คือ ไม่ได้ช่วยให้ดีขึ้น แถมมีอาการหนักขึ้นอีก “ใบยอ” เป็นพืชที่มีฟอสฟอรัสสูง และเป็นแร่ธาตุที่คนเป็นโรคไตต้องระวังให้มาก ไม่แพ้ธาตุโพแทสเซียม และแคลเซียม เนื่องจากไตไม่สามารถขับแร่ธาตุดังกล่าวได้ปกติ ส่งผลให้เกิดการสะสมตัวของแร่ธาตุในเลือดเพิ่มสูง นำไปสู่โรคแทรกซ้อนอื่น เช่น กระดูกพรุน ดังนั้นการนำใบยอมาต้มกับ “มะตูมแห้ง” ดื่มเพื่อรักษาอาการไตเสื่อม ไม่พบงานวิจัยว่าพืช 2 ชนิดใช้รักษาโรคไตได้

ด้าน “น้ำข้าวร้อนและไข่ขาว” รักษาโรคไตไม่ได้เช่นกัน ยกเว้นคนไข้โรคไตบางคนที่มีไข่ขาวรั่วในปัสสาวะ แพทย์ถึงจะแนะนำให้กินไข่ขาวเพื่อทดแทนที่สูญเสียไป ปัจจุบันยังไม่มีอาหารหรือสมุนไพรอะไรที่บำรุงไตโดยตรง ดังนั้นคนเป็นโรคไตต้องระวังไม่กินเนื้อสัตว์มาก ไม่กินเค็มจัด หรือหวานจัดเกินไป ลดอาหารที่มีไขมันสูง และต้องออกกำลังกาย