เคล็ดลับก้นครัวเคล็ดลับอื่นๆ 26 ม.ค. 67

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับอบเชย

Share :

เคล็ดไม่ลับกับครัวคุณต๋อย ตอน “เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับอบเชย”

อบเชย เป็นเครื่องยา และเครื่องเทศ เปลือกอบเชยที่ดีจะมีสีน้ำตาลอ่อน (สีสนิม) มีความตรงและบางสม่ำเสมอ ยาวประมาณ 1 เมตร มีกลิ่นหอมเฉพาะรสสุขุม เผ็ด หวานเล็กน้อย อบเชยมีอยู่หลายชนิดทั้ง อบเชยไทย อบเชยลังกา อบเชยญวน อบเชยชวา อบเชยจีน  ซึ่งตระกูลอบเชยมักจะมีสรรพคุณทางยาคล้าย ๆ กัน

-อบเชยเป็นพืชสมุนไพรที่อุดมไปด้วยสารโพลีฟีนอล  มีคุณสมบัติในการต้านเชื้อแบคทีเรียหลายชนิดรวมทั้ง แบคทีเรียที่ทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ และยังมีฤทธิ์แก้ปวด แก้แพ้ มีฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อ เพิ่มภูมิคุ้มกัน ต้านการลดลงของเม็ดเลือดขาว  กระตุ้นให้เกิดการไหลเวียนของโลหิต  อบเชยยังช่วยลดไตรกลีเซอไรด์ ลด LDL , ลดระดับคอเลสเตอรอลโดยรวมได้ ช่วยลดความดันโลหิต และยังช่วยต้านมะเร็ง

-ตามตำรายาไทย  น้ำต้มอบเชย ดื่มแก้ตับอักเสบ อาหารไม่ย่อย แก้ท้องเสีย ลำไส้เล็กทำงานผิดปกติ ขับพยาธิ มีสรรพคุณบำรุงหัวใจ แก้อ่อนเพลีย  ชูกำลัง  บำรุงธาตุ  แก้บิด  แก้ลมอัณฑพฤกษ์   แก้ไข้สันนิบาต   ใช้ปรุงเป็นยานัตถุ์แก้ปวดหัว รับประทานแก้เบื่ออาหาร  ขับผายลม  แก้จุกเสียด แน่นท้อง อาหารไม่ย่อย  แก้ไอ  แก้ไข้หวัด  ลำไส้อักเสบ  ท้องเสียในเด็ก  อาการหวัด     คลื่นไส้อาเจียน  แก้ปวดประจำเดือน  ใช้ห้ามเลือดโดยบดเป็นผง ใช้สมานแผลได้

– มีการศึกษาวิจัยหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่า การรับประทานอบเชยหรือสารสกัดจากอบเชยอาจช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยโรคเบาหวานประเภทที่ 2 และผู้ที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานได้  เพราะในอบเชยมีสารที่สามารถตอบสนองต่ออินซูลินได้มากขึ้น จึงช่วยทำให้อินซูลินทำงานได้มีประสิทธิภาพขึ้น รวมทั้งตัวมันเองยังมีฤทธิ์เหมือนอินซูลิน  ข้อแนะนำสำหรับผู้เป็นเบาหวานให้รับประทานผงอบเชยจีนประมาณ 1 ช้อนชาต่อวัน แบ่งเป็นเช้าครึ่งช้อนชา เย็นครึ่งช้อนชา โดยผสมกับเครื่องดื่ม เช่น นม ชา กาแฟ โยเกิร์ต หรือบรรจุลงในแคปซูลรับประทาน ควรรับประทานติดต่อกันอย่างน้อย 20 วัน    สำหรับผู้ที่เป็นไข้ตัวร้อน ปัสสาวะเป็นเลือด ปัสสาวะขัด ท้องผูก เป็นโรคริดสีดวงทวาร เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ขวบ สตรีมีครรภ์ ห้ามรับประทานอบเชย และห้ามกินน้ำมันอบเชย เพราะจะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียนและเป็นอันตรายต่อไตได้